“ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” เริ่มต้นที่บทรักแสนเศร้า จบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่กลายเป็นตำนาน
ความรักที่ไม่สมหวัง โศกเศร้า เสียใจ คือบทที่ไม่มีใครอยากสรรค์สร้าง แต่ชะตาฟ้าลิขิตไว้แล้ว บทรักที่แสนเศร้าจึงกลายเป็น โศกนาฏกรรมความรัก ที่ไม่อาจหลีกหนีได้ เราขอหยิบตำนานความรักแห่งการพลัดพราก ลาจาก มาเล่าขานให้ฟังกันอีกครั้ง
โศกนาฏกรรมความรักต้องห้ามของชาวล้านนา
ตำนานความรักของ มะเมียะ หญิงสาวชาวพม่าที่มีความรักมั่นกับ เจ้าน้อยศุขเกษม เจ้าชายล้านนา แต่ความรักต้องจบลงด้วยความโศกสลด เพราะถูกกีดกันด้วยความต่างของเชื้อชาติ ชนชั้น และสถานการณ์บ้านเมือง อันเป็นที่มาของตำนานความรักที่เล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน
ช่วงเวลาสร้างตำนาน ปี พ.ศ. 2445-2505 สถานที่ก่อเกิดตำนาน นครเชียงใหม่ แคว้นล้านนา (จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบัน)
ร้อยตรี เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) หรือ เจ้าน้อยศุขเกษม (พ.ศ. 2423-พ.ศ. 2453) ราชโอรสองค์โตในเจ้าแก้วนวรัฐ กับแม่เจ้าจามรีมหาเทวี แห่งนครเชียงใหม่ เมื่ออายุได้ 15 ปี ถูกส่งไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเซนต์แพทริค (St. Patrick′s School) ในเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า เมื่อเจ้าน้อยฯ มีอายุ 19 ปี ได้ออกไปเดินเที่ยวในตลาดจึงพบ มะเมียะ (พ.ศ. 2430-พ.ศ. 2505) หญิงสาวชาวพม่า แม่ค้าขายบุหรี่อายุ 15 ปี ทั้งคู่ต่างก็ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน จนกระทั่งได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา โดยทั้งสองได้สาบานต่อกัน ณ ลานหน้าพระธาตุใจ้ตะหลั่นว่า จะรักกันตลอดไปและจะไม่ทอดทิ้งกัน หากผู้ใดทรยศต่อความรักที่มีให้กัน ก็ขอให้ผู้นั้นอายุสั้น
เมื่อเจ้าน้อยฯ อายุ 20 ปี ต้องกลับนครเชียงใหม่ จึงแอบพามะเมียะกลับมาด้วย เมื่อกลับมาถึงจึงทราบว่าได้ถูกหมั้นหมายผู้หญิงไว้ให้แล้ว เจ้าน้อยฯ จึงตัดสินใจเล่าเรื่อง มะเมียะให้ฟัง แต่ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะช่วงนั้นพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษที่กำลังมีคดีความกับสยามอยู่ (นครเชียงใหม่เป็นประเทศราชของสยามในสมัยนั้น) มะเมียะจึงถูกส่งตัวกลับทันที
วันเดินทางกลับ อันจะกลายเป็นการจากลาชั่วนิรันดร์ เจ้าน้อยฯ พูดภาษาพม่ากับมะเมียะได้เพียงไม่กี่คำ นางก็ร่ำไห้ด้วยความอัดอั้นตันใจในอ้อมแขนที่ยากจะแยกจากกันได้ เจ้าน้อยฯ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะกลับไปหามะเมียะให้จงได้ นางจึงคุกเข่าลงกับพื้น ก้มหน้า สยายผมออกเช็ดเท้าเจ้าน้อยฯ ด้วยความอาลัยหา ก่อนที่นางจะจากไป
นางได้แต่เฝ้ารอคอยเจ้าน้อยฯ แต่กลับไร้วี่แววใดๆ มะเมียะจึงตัดสินใจครองตนเป็นแม่ชีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่านางยังซื่อสัตย์ ต่อความรักที่มีต่อเจ้าน้อยฯ
หลังจากที่ทราบข่าวการแต่งงานของ เจ้าน้อยฯ กับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ แม่ชีมะเมียะจึงเดินทางมายังเมืองเชียงใหม่และขอเข้าพบเจ้าน้อยฯ เป็นครั้งสุดท้าย แต่เจ้าน้อยฯ ไม่สามารถหักห้ามความสงสารที่มีต่อมะเมียะได้ จึงไม่ยอมลงไปพบแม่ชีมะเมียะตามคำขอร้อง เพียงแต่มอบหมายให้พี่เลี้ยงคนสนิทนำเงิน 1 กำปั่น( 800 บาท) ไปมอบให้กับแม่ชีมะเมียะเพื่อใช้ในการทำบุญ พร้อมกับมอบแหวนทับทิมประจำกายอีกวงหนึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าน้อยฯ ให้กับแม่ชีมะเมียะ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มะเมียะและเจ้าน้อยฯ ต่างสะเทือนใจเป็นที่สุด หลังจากเหตุการณ์นั้นเจ้าน้อยฯ ก็ตรอมใจเอาแต่กินเหล้าและสิ้นชีพิตักษัยในอีกไม่กี่ปีต่อมา ส่วน มะเมียะ ได้ครองบวชเป็น แม่ชี จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2505 รวมอายุได้ 75 ปี
โศกนาฏกรรมความรักต่างภพอันลือลั่น
ตำนานความรักของ อำแดงนาก ผีสาวตายทั้งกลมที่มีต่อสามีอันเป็นที่รัก ช่วงเวลาสร้างตำนาน ปลายรัชกาลที่ 3 ถึงตอนต้นรัชกาลที่ 4 สถานที่ก่อเกิดตำนาน ตำบลพระโขนง จังหวัดพระนคร (ย่านวัดมหาบุศย์ เขตสวนหลวง กทม. ในปัจจุบัน)
ตามตำนานเล่าต่อกันมาว่า มีสามีภรรยาหนุ่มสาวคู่หนึ่ง อาศัยอยู่ด้วยกันที่ย่านพระโขนง สามีชื่อนายมาก ส่วนภรรยาชื่อนางนาก ทั้งสองใช้ชีวิตคู่ร่วมกันจนนางนากตั้งครรภ์อ่อน ๆ นายมากก็มีหมายเรียกให้ไปเป็นทหารประจำการที่บางกอก นางนากจึงต้องอยู่ตามลำพัง จนครบกำหนดคลอด นางนากสิ้นใจไปขณะทำคลอดบุตร กลายเป็นผีตายทั้งกลม
ส่วนนายมากเมื่อปลดประจำการก็กลับจากบางกอกมายังพระโขนงโดยที่ยังไม่ทราบความว่านางนากได้ตายไปแล้ว ไม่ว่าใครที่มาพบเจอนายมากจะบอกนายมากอย่างไร นายมากก็ไม่เชื่อว่าเมียตัวเองตายไปแล้ว จนวันหนึ่งขณะที่นางนากตำน้ำพริกอยู่บนบ้าน นางนากทำมะนาวตกลงไปใต้ถุนบ้าน ด้วยความรีบร้อน นางจึงเอื้อมมือยาวลงมาจากร่องบนพื้นเรือนเพื่อเก็บมะนาวที่อยู่ใต้ถุนบ้าน นายมากขณะนั้น บังเอิญผ่านมาเห็นพอดี จึงปักใจเชื่ออย่างเต็มร้อย ว่าเมียตัวเองเป็นผีตามที่ชาวบ้านว่ากัน
นายมากหนีไปพึ่งพระที่วัด นางนากไม่ลดละพยายาม ด้วยความที่เจ็บใจชาวบ้านที่คอยยุแยงตะแคงรั่วผัวตัวเองอีกประการหนึ่ง ทำให้นางนากออกอาละวาดหลอกหลอนชาวบ้านจนหวาดกลัวกันไปทั้งบาง สุดท้ายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้มาโปรดนำนางนากสู่สุคติ
ตำนานรักของนางนาก นับเป็นตำนานรักอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจผู้ฟังอย่างไม่รู้จบ กับความรักที่มั่นคงของนางนากที่มีต่อสามี ที่แม้แต่ความตายก็มิอาจพรากหัวใจรักของนางไปได้ จนนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ และละครเวที มากมายหลายเวอร์ชั่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โศกนาฏกรรมความรัก ตำนานโลงคู่ วัดหัวลำโพง
ตำนานความรักของ ปราโนต วิเศษแพทย์ หรือ สีดา สาวประเภทสองฉายานางงาม 50 มงกุฎ และ ชีพ-สมชาติ แก้วจินดา ชายอันเป็นที่รัก ที่ตายตกตามกันด้วยคำสาบาน ช่วงเวลาสร้างตำนาน ปี พ.ศ. 2510 สถานที่ก่อเกิดตำนาน บ้านพักย่านซอยสวนพลู และ วัดหัวลำโพง กทม.
ปราโนต วิเศษแพทย์ (พ.ศ. 2481 – 2510) เป็นบุตรของนายยงค์ และหม่อมหลวงหญิง บุญนาค วิเศษแพทย์ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คน และเป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของบ้านที่มีฐานะความเป็นอยู่ดี เมื่อจบชั้นประถมศึกษา ปราโนต ได้มีโอกาสเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร หรือ วิทยาลัยนาฏศิลปในปัจจุบัน ตามความชอบในด้านการแสดงตั้งแต่เยาว์วัย โรงเรียนแห่งนี้นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ปราโนตเป็นที่รู้จักในชื่อของ “สีดา” (นางในวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ์ที่มีความงดงามอย่างมาก) แล้ว ที่นี่ยังเปิดโอกาสให้เขาสามารถแสดงบุคลิกที่เบี่ยงเบนไปจากเพศที่แท้จริงของตนเองได้อย่างอิสระเสรีอีกด้วย การสวมบทสตรีเพศ อีกทั้งซึบซับความอ่อนหวานเรียบร้อยแบบผู้หญิงของคนรอบข้างไว้อย่างไม่รู้ตัว เป็นส่วนส่งเสริมให้ร่างกายและจิตใจของปราโนตเปลี่ยนแปลงมาเป็นผู้หญิงอย่างเต็มตัว
ความงามของ ปราโนต วิเศษแพทย์ นี้เป็นที่โด่งดังมากในหมู่สาวประเภทสองในยุคนั้น หลังออกจากการเป็นนักเรียนของวิทยาลัยนาฏศิลป์ เธอเริ่มเดินสายประกวดนับครั้งไม่ถ้วน ลงเวทีไหนเป็นต้องชนะเวทีนั้น เรียกว่า “สวยไร้คู่แข่ง - สวยไม่ปรานีปราศรัย” จนได้รับฉายาว่า “นางงาม 50 มงกุฎ” (สำหรับเกือบ 50 ปีก่อน ปราโนต เรียกได้ว่า สวยกว่าผู้หญิงบางคน และไม่มีสาวประเภทสองคนใดเทียบได้)
ปราโนต พบรักครั้งแรกกับตัวพระ ซึ่งมารับบท “พระราม” แต่รักครั้งนี้ เป็นแค่ความรู้สึกดีดีที่มีต่อกัน ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ต่อมา ปราโนตได้พบรักกับชายหนุ่มชื่อ สมบูรณ์ ทั้งคู่คบหาและอยู่กินกันนานถึง 8 ปีเต็ม สุดท้ายก็เลิกรากันไปและนายสมบูรณ์ก็หันไปคบกับผู้หญิงอื่น จนผ่านไปสองสามปี ปราโนตก็ได้มาเจอกับ สมชาย แก้วจินดา หรือ ชีพ มีอาชีพขับรถรับจ้าง รูปหล่อ สุภาพ เรียบร้อย พูดจาดี ทั้งคู่ตกลงปลงใจและย้ายมาอยู่ด้วยกันที่บ้านพักย่านซอยสวนพลู แต่จนแล้วจนรอดปัญหาเดิมก็กลับมาทำร้ายคนทั้งคู่ นั่นคือความหวาดระแวง หึงหวงกัน ครั้งหนึ่งทั้งคู่ได้สาบานต่อกันที่วัดพระแก้วและศาลหลักเมืองว่า “ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อกันก็ขอให้ตายด้วยกัน ถ้าสีดาตายก่อน ชีพจะต้องตายตามไป แต่ถ้าชีพตายก่อน สีดาก็จะต้องตายตามไป”
หลังจากนั้นทั้งคู่ได้ทะเลาะเบาะแว้งกันอีกหลายครั้งและตัดสินใจแยกกันอยู่ ปราโนตคิดตลอดเวลาว่า เธอไม่ใช่ “หญิงแท้” เธอกังวลว่าความสุขที่เธอมอบแก่ชีพนั้นจะไม่เต็มที่อย่างที่เขาต้องการและพึงใจ จนเธอระแคะระคายว่า ชีพมีผู้หญิงอื่นมาติดพัน จนเป็นสาเหตุให้ทั้งคู่กลับมาทะเลาะกันอีกครั้ง เรื่องนี้เป็นสาเหตุที่ตอกย้ำความเชื่อของเธอจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ปราโนตได้ตัดสินใจดื่มยาพิษฆ่าตัวตายอยู่หลายครั้ง แต่ก็มีคนช่วยชีวิตไว้ได้ทัน และในการดื่มยาพิษครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2510 ลมหายใจสุดท้ายของปราโนตก็หมดสิ้นลงอย่างโดดเดี่ยวในบ้านพักของเธอ
เมื่อ ชีพ ทราบข่าวก็ได้แต่พร่ำพูดแต่ประโยคที่ว่า “ผมจะตามพี่ไป พี่รอผมด้วย” พลางร้องไห้กอดศพของปราโนตแน่น เย็นวันเดียวกันนั้นเอง ชีพได้บวชอุทิศส่วนกุศลให้กับปราโนต หลังจากสวดศพครบ 3 คืน เณรชีพตัดสินใจสึก จากนั้นได้นำสมบัติที่ซื้อร่วมกันไปจำนำ และนำเงินที่ได้ไปให้แก่คนในบ้าน และได้เขียนจดหมายสั่งเสียว่า “ขอให้นำเงินจำนวนดังกล่าวนี้เพื่อทำศพของเขา ขอให้พี่ๆ ช่วยเป็นภาระในการเลี้ยงดูแม่ ส่วนศพของเขาให้เอาไว้ที่วัดหัวลำโพงคู่กับศพของโนต” ต่อมา ชีพ ก็กินยาฆ่าแมลงและเสียชีวิตเมื่อตอนเที่ยงวันที่ 15 พฤษภาคม 2510 (เดือน – ปีเดียวกัน)
วัดหัวลำโพง คือสถานที่บำเพ็ญกุศลให้กับดวงวิญญาณที่จากไปของปราโนต แต่หลังจากที่งานศพเสร็จสิ้นลงเพียงไม่กี่วัน อีกหนึ่งชีวิตก็ติดตามไป เหมือนคำสาบานที่เคยให้ไว้ต่อกัน ภาพของร่างไร้วิญญาณในโลงศพที่ตั้งเคียงคู่กัน ณ วัดหัวลำโพง เพื่อรอการฌาปนกิจ ได้สร้างความโศกสลดให้กับคนทั่วไป และยุติความแคลงใจของคนรอบข้างที่มีต่อความรักของทั้งสองได้อย่างสิ้นเชิง
โศกนาฏกรรมความรัก ก้าวข้ามผ่านด้วยผ้าขาวม้าและความตาย
ตำนานความรักของ โกดำและกิ๋ว จากตำนาน “สะพานสารสิน” ช่วงเวลาสร้างตำนาน ปี พ.ศ. 2516 สถานที่ก่อเกิดตำนาน สะพานสารสิน ตำบลท่าฉัตรไชย จังหวัดภูเก็ต
ตำนานรักสะพานสารสิน เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต โศกนาฏกรรมของหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่แตกต่างกัน ด้วยชาติตระกูลและฐานะทางสังคม ตัดสินปัญหาด้วยการใช้ผ้าขาวม้าผูกต่อกันมัดตัวเองกระโดดจากกลางสะพานลงสู่พื้นน้ำในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516
ตำนานนี้มีจุดเริ่มต้นจากชายหนุ่มขับรถโปท้อง (รถสองแถว) ชื่อว่า โกดำ แซ่ตัน พบรักกับ หญิงสาวชื่อ กิ๋ว-กาญจนา แซ่หงอ นักศึกษาวิทยาลัยครู ผู้พรั่งพร้อมไปด้วยชาติตระกูลและฐานะทางสังคม พวกเขาใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อเป็นบทพิสูจน์ให้บิดาของหญิงสาวได้เห็นถึงความรักที่มีให้แก่กัน แต่ไม่ว่าจะทำเช่นไรก็ไม่เป็นผล เมื่อผู้เป็นพ่อของฝ่ายหญิงไม่ยอมเปิดใจ หลายครั้งที่กิ๋วถูกบิดากักขังและทุบตีเยี่ยงทาส เพราะแอบลักลอบพบกับโกดำ อีกทั้งพ่อยังไม่ละความพยายามในการยัดเยียดลูกสาวให้กับเศรษฐีมีเงิน
ถึงผู้เป็นพ่อจะแข็งกร้าวต่อหัวใจของลูกสาว แต่ความรักและการพยายามฝ่าฟันอุปสรรคของโกดำและกิ๋ว สามารถชนะใจชาวบ้านท่าฉัตรไชยได้จากการไม่เป็นที่ยอมรับในตอนแรก ชาวบ้านทุกคนทราบดีถึงความรักที่มีอุปสรรคครั้งนี้ หลายคนพยายามเกลี้ยกล่อมพ่อของกิ๋วให้ยอมรับโกดำเป็นลูกเขย แต่ก็ไม่ได้รับการยินยอมไม่ว่าจะด้วยวิถีทางใด
ในที่สุดเมื่อหัวใจของคนทั้งสองถูกย่ำยีจนหมดแล้วซึ่งความหวัง เขาทั้งสองคนได้นำผ้าขาวม้ามาผูกมัดต่อกันแล้วตัดสินใจกระโดดจากกลางสะพานลงสู่พื้นน้ำ การผูกมัดผ้าเข้าด้วยกันนั้นอาจสื่อถึงการที่พวกเขาจะได้อยู่คู่กันแม้เเต่ความตาย ก็ไม่สามารถพรากหัวใจทั้งสองจากกันได้ เวลาต่อมาชาวบ้านก็ได้พบร่างไร้วิญญาณของทั้งสอง สร้างความเสียใจสะท้านความรู้สึกของชาวบ้านท่าฉัตรไชยเสมอมา
ที่ม:http://www.siamupdate.com/news-178677